Lie, Trygve Halvdan (1896-1968)

นายทริกฟ์ ฮาล์ฟเดน ลี (๒๔๓๙-๒๕๑๑)

     ทริกฟ์ ฮาล์ฟเดน ลี เป็นนักการเมืองและนักการทูตชาวนอร์เวย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* คนแรก ( ค.ศ. ๑๙๔๖-๑๙๕๒) ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ เขาได้ทำให้ตำแหน่งนี้มีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นโดยเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างประเทศหลายครั้ง จนทำให้ตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติเป็นที่รู้จักและยอมรับกันในการเมืองระหว่างประเทศ
     ลีเกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๙๖ ที่กรุงออสโล (Oslo) ประเทศนอร์เวย์ เป็นบุตรของมาร์ติน ลี (Martin Lie) และฮัลดา อาร์เนเซน ลี (Hulda Arnesen Lie) ระหว่างที่ลีศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา

เขาทำงานเป็นพนักงานประจำสำนักงานของพรรคแรงงานของนอร์เวย์และเป็นสมาชิกองค์การยุวชนของพรรคแรงงาน หลังสำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งคริสเทียเนีย (Kristiania) กรุงออสโล ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ลีทำงานเป็นทนายความ ขณะเดียวกันระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๙-๑๙๒๒ ก็เป็นผู้ช่วยเลขาธิการพรรคแรงงาน ต่อมาเขาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับสหพันธ์แรงงานนอร์เวย์ (Norwegian Trade Union Federation) ต่อมาระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๓๕ เขายังได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคแรงงานใน ค.ศ. ๑๙๒๖ เขาสมรสกับฮจอร์ดิส เจอร์เกนเซน (Hjordis Joergensen) เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๑ มี บุตร ๓ คน คือซิสเซล (Sissel) กูรี (Guri) และเมตเท (Mette)
     ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เมื่อพรรคแรงงานซึ่งมีโจฮัน นีการ์ดสโวลด์ (Johan Nygaardsvold) เป็นหัวหน้า ได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นลีได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๓๙ และยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมระหว่างเดือน กรกฎาคม-กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ในระหว่างสงครามลีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลาธิการและขนส่งซึ่งทำให้เขาสามารถใช้มาตรการเตรียมพร้อมเพื่อให้กองเรือของนอร์เวย์พร้อมที่จะปฏิบัติช่วยเหลือฝ่ายพันธมิตรตลอดจนการสะสมเสบียงอาหารและสิ่งของจำเป็นสำหรับนอร์เวย์ในระหว่างสงคราม เมื่อเยอรมนีบุกนอร์เวย์ในยุทธการที่นอร์เวย์ (Battle of Norway)* เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๐ เขาช่วยให้พระเจ้าฮากอนที่ ๗ (Haakon VII)* หนีไปประทับที่อังกฤษได้เมื่อนอร์เวย์จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่อังกฤษ ลีเดินทางไปอังกฤษในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๑ เขามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้กองเรือพาณิชย์ของนอร์เวย์ช่วยเหลือฝ่ายพันธมิตรอย่างเต็มที่
     หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ลีได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลเฉพาะกาลของนอร์เวย์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๕ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลชุดใหม่ของพรรคแรงงานในเดือน ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังเข้ารับตำแหน่ง ลีได้นำคณะผู้แทนของนอร์เวย์เข้าร่วมการประชุมขององค์การสหประชาชาติที่นครซานฟรานซิสโก ซึ่งเขาได้รับเลือกเป็นประธานของคณะกรรมการชุดที่ ๓ เพื่อร่างกฎบัตรของสหประชาชาติในส่วนที่เกี่ยวกับคณะมนตรีความมั่นคง กฎบัตรดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ เมื่อมีการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งแรกที่กรุงลอนดอนระหว่างวันที่ ๑๐ มกราคม -๑๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๖ ลีเป็นหัวหน้าของคณะผู้แทนนอร์เวย์เข้าร่วมประชุมและได้รับเลือกจากสมัชชาใหญ่ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติคนแรกเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๖ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี ก่อนหน้านั้นเขายังได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาด้วย แต่ปอล-อองรี สปาก (Paul-Henri Spaak)* ของเบลเยียมได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
     ลีพยายามไม่ให้ตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและสำนักงานเลขาธิการองค์การสหประชาชาติตกอยู่ใต้อิทธิพลของมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งซึ่งในเวลาขณะนั้นมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต เขาดำเนินนโยบายอิสระและเป็นกลางโดยไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ลีได้ใช้ประโยชน์จากมาตรา ๙๙ ของกฎบัตรสหประชาชาติที่ระบุว่าเลขาธิการอาจนำเรื่องใดที่ตนเห็นว่าเป็นการคุกคามต่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศมาเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงพิจารณา เขาตีความว่าเลขาธิการเป็นนักการทูตอิสระที่สามารถเตือนทุกประเทศเกี่ยวกับการคุกคามสันติภาพ ดังนั้น ลีในฐานะเลขาธิการองค์การสหประชาชาติจึงมีหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมในวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ของโลก และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของสมาชิกที่เสนอเข้ามาในสมัชชา โดยเขาแสดงบทบาทดังกล่าวอย่างเปิดเผยและในบางครั้งก็ทำตามความคิดของตนจนมีผู้ไม่เห็นด้วยกับเขาหลายครั้ง
     ลีแสดงบทบาทแรก ๆ ในหน้าที่เลขาธิการสหประชาชาติด้วยการให้สหภาพโซเวียตถอนทหารออกจากอิหร่านได้สำเร็จ ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ อิหร่านดำเนินนโยบายเป็นกลางแต่ก็โน้มเอียงสนับสนุนเยอรมนี เมื่อเยอรมนีใช้แผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* บุกโจมตีสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ฝ่ายพันธมิตรเห็นว่าอิหร่านเป็นเส้นทางเดียวที่จะส่งยุทธสัมภาระไปช่วยสหภาพโซเวียตได้ ฝ่ายพันธมิตรจึงโจมตีอิหร่านใน ค.ศ. ๑๙๔๑ เมื่อสงครามสิ้นสุดลงอังกฤษและสหรัฐอเมริกาถอนทหารออกจากอิหร่านและชดใช้ค่าเสียหาย แต่สหภาพโซเวียตไม่ยอมถอนทหารออกจากแคว้นอาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan) ซึ่งอยู่ติดพรมแดนโซเวียต อิหร่านจึงร้องเรียนไปยังสหประชาชาติ ลีสามารถไกล่เกลี่ยให้สหภาพโซเวียตยอมถอนทหารออกไปใน ค.ศ. ๑๙๔๖
     ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ ลีพยายามไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งเรื่องปาเลสไตน์และการจัดตั้งประเทศอิสราเอล แต่สงครามระหว่างยิวกับอาหรับก็เกิดขึ้นทันทีที่การจัดตั้งประเทศอิสราเอลสำเร็จในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ นอกจากนี้เขายังไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานในเรื่องแคว้นแคชเมียร์ (Kashmir) แต่การไกล่เกลี่ยของลีทั้ง ๒ กรณีก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราวเพราะสงครามระหว่างยิวกับอาหรับและสงครามระหว่างอินเดียกับปากีสถานยังคงดำเนินต่อไป ใน ค.ศ. ๑๙๕๐ ลีได้นำคณะกรรมการสันติภาพของสหประชาชาติเดินทางไปยังเมืองหลวงของบรรดาชาติมหาอำนาจเพื่อรณรงค์ "โครงการสันติภาพ ๒๐ ปี" เขาคัดค้านความพยายามของสหภาพโซเวียตในการขับไล่จีนคณะชาติออกจากสหประชาชาติ แต่ในปีเดียวกันเขากลับสนับสนุนให้สหประชาชาติยอมรับสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งทำให้ทั้งสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาต่างไม่พอใจเขา ต่อมาเขาสนับสนุนข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาที่ให้ชาติต่าง ๆ ส่งทหารไปช่วยเกาหลีใต้เนื่องจากเกาหลีเหนือบุกเกาหลี ใต้ใน ค.ศ. ๑๙๕๐ ยิ่งทำให้สหภาพโซเวียตไม่พอใจเขามากขึ้น
     หลังจากสหประชาชาติได้มีมติให้ส่งกองทัพไปช่วยเกาหลีใต้ในสงครามเกาหลี เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๐ สหภาพโซเวียตกีดกันเขาไม่ให้ได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการเป็นสมัยที่ ๒ และยังโจมตีเขาโดยตรงด้วย ลีตระหนักดีว่าสหภาพโซเวียตจะต้องใช้สิทธิยับยั้งเขาในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการอีกสมัยหนึ่งในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ดังนั้นเขาจึงดำเนินการให้สมัชชาใหญ่ขยายเวลาการดำรง ตำแหน่งของเขาไปอีก ๓ ปี โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งซึ่งก็ประสบความสำเร็จ แต่สหภาพโซเวียตก็ไม่ยอมรับสถานภาพเลขาธิการสหประชาชาติของเขา นอกจากนี้ยังมีผู้ต่อต้านเขาในสหรัฐอเมริกาเนื่องจากวุฒิสมาชิกโจเซฟ อาร์. แมกคาร์ที (Joseph R. McCarthy) กล่าวหาว่ามีคอมมิวนิสต์ทำงานในองค์การสหประชาชาติและสำนักงานเลขาธิการมีชาวอเมริกันที่ฝักใฝ่ในคอมมิวนิสต์ แต่ข้อกล่าวหาของแมกคาร์ทีก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้
     แม้ลีจะทำงานหนักเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ แต่ผลงานของเขาไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ลีจึงลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๒ และดั๊ก ฮัมมาร์เชิลด์ (Dag Hammarskjöld) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ลีเดินทางกลับนอร์เวย์ เขาเขียนหนังสือความทรงจำเกี่ยวกับการดำเนินงานเรื่องสันติภาพชื่อ The Cause of Peace ( ค.ศ. ๑๙๕๔) และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงออสโลและอะเกอร์ชุสเคาน์ตี (Akershus) ใน ค.ศ. ๑๙๕๕ เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างเอธิโอเปียกับอิตาลีใน ค.ศ. ๑๙๕๘ เกี่ยวกับปัญหาพรมแดนโซมาเลีย (Somalia) ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของอิตาลี สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติได้ขอร้องให้นอร์เวย์หาทางยุติข้อขัดแย้งดังกล่าว ลีจึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งดังกล่าว ต่อมา ลีได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ( ค.ศ. ๑๙๖๓-๑๙๖๔) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ( ค.ศ. ๑๙๖๕)
     ทริก ฮาล์ฟเดน ลี ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ ที่เมืองเกโล (Geilo) ขณะอายุ ๗๒ ปี.



คำตั้ง
Lie, Trygve Halvdan
คำเทียบ
นายทริกฟ์ ฮาล์ฟเดน ลี
คำสำคัญ
- เกโล, เมือง
- แผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- ฮากอนที่ ๗, พระเจ้า
- สหประชาชาติ
- สปาก, ปอล-อองรี
- ออสโล, กรุง
- ยุทธการที่นอร์เวย์
- เจอร์เกนเซน, ฮจอร์ดิส
- สหพันธ์แรงงานนอร์เวย์
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- แมกคาร์ที, โจเซฟ อาร์.
- ลี, ทริกฟ์ ฮาล์ฟเดน
- อะเกอร์ชุสเคาน์ตี
- อาเซอร์ไบจาน, แคว้น
- ฮัมมาร์เชิลด์, ดั๊ก
- แคชเมียร์, แคว้น
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1896-1968
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๓๙-๒๕๑๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
เชาวลี จงประเสริฐ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf